หลวงพ่อจุล อิสฺสรญาโณ)วัดหงษ์ทอง
ท่านเจ้าคุณพระวชิรสารโสภณ นามเดิม จุล พุทธชาติ เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2437 ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ ปีมะเมีย ที่บ้านสลกบาตร ตำบลสลกบาตร ท่าเป็นบุตรคนโตของครอบครัว บิดาชื่อ เนตร มารดา (ไม่ทราบชื่อ) น้องๆ ของท่านเจ้าคุณเป็นชายทั้งหมดรวม 4 คนคือ นายแก้ว นายกัน นายเริ่ม และนายสงบ
เมื่อเยาว์วัยการศึกษาของท่าน เหมือนกับบุคคลทั่วไปคือ เรียนหนังสือที่วัดพออ่านออกเขียนได้ ครั้นจบชั้นประถม ก็ออกจากวัดมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ปี พ.ศ. 2458 อายุ 21 ปี ได้ไปเป็นศิษย์วัด ที่จังหวัดตาก นานถึง 2 ปี
ปี พ.ศ. 2460 อายุ 23 ปี ได้เข้ารับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ณ พระอุโบสถ วัดหงษ์ทอง โดยมีท่าน พระครูติธรรมสมาทาน (เลื่อน) วัดอุดมศรัทธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังอุปสมบท ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดสิงคาราม แต่ก็ยังไปมาระหว่างวัดหงษ์ทองกับวัดสิงคาราม
เมื่อบวชได้ 3 พรรา ได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ท่านพระครูติธรรมสมาทานเพื่อไปศึกษาวิชาต่อ ณ วัดบ้านแก่ง เป็นศิษย์ท่าน พระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์ (ทองอยู่) อ. เมือง จ. นครสวรรค์
หลวงพ่อทองอยู่ วัดบ้านแก่ง มีกิตติคุณและชื่อเสียงว่า ท่านเป็นพระที่มีคาถาอาคมขลัง ด้านพระปริยัติธรรมท่านก็มีความรู้ดี ในแต่ละปีจะมีพระภิกษุสงฆ์จากเมืองนครสวรรค์กำแพงเพชร ไปฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อขอให้ท่านถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ให้ ศิษย์ของหลวงพ่อทองอยู่บางท่านกล่าวว่า “หลวงพ่อทองอยู่ วัดบ้านแก่ง” เป็นศิษย์ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) วัดหนองโพธิ์ แต่บางท่านกล่าวว่า หลวงพ่อทองอยู่ เป็นสหายทางธรรมกับหลวงพ่อเดิม
พระภิกษุ จุล อิสฺสรญาโณ ได้มาศึกษาในสำนักพระอาจารย์ทองอยู่หลายพรรษา ฉะนั้นวิาความรู้ต่างๆ จึงได้ไปครบทุกอย่างคือด้านคันถธุระและวิปสสนาธุระก็แตกฉานในด้านไสยศาสตร์มนต์คาถาก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาไปด้วย กาลต่อมา เมื่อวัดหงษ์ทองว่างสมภารและจะหาพระภิกษุสงฆืที่เหมาะสมเพื่อเป็นเจ้าอาวาสก็ไม่มี มรรคทายกพร้อมด้วยชาวบ้านสลกบาตร ได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อจะสรรหาเจ้าอาวาสที่มีวคามสามารถมากจะได้พัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้าในที่สุดเห็นพ้องต้องกันว่า พระภิกษุจุล อิสฺสรยาโณ เป็นพระภิกษุสงฆ์ในท้องถิ่นและเคยอยู่วัดหงษ์ทองมาก่อน และมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้นชาวบ้านสลกบาตรจึงพร้อมใจกันเดินทางไปนิมนต์พระภิกษุจุล อิสฺสรญาโณ จึงเดินทางมาจำพรรษา และรับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหงษ์ทองสืบต่อมา |
สมณศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่การงานปี พ.ศ. 2478 พระฐานานุกรมของพระวิบูลย์วชิรธรรม ตำแหน่งพระใบฏีกา ปี พ.ศ. 2480 ได้รับเลื่อนขึ้นเป็นพระสมุห์ ปี พ.ศ. 2481 ได้รับสมณศักดิ์ ที่พระครูวิกรมวชิรสาร ปี พ.ศ. 2502 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวชิรสารโสภณ |
หน้าที่การบริหาร ที่สำคัญ มีดังนี้ปี พ.ศ. 2470 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดหงษ์ทอง จังหวัดกำแพงเพชร ปี พ.ศ. 2471 เจ้าคณะตำบลสลกบาตร ปี พ.ศ. 2478 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ปี พ.ศ. 2487 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสาธารณูปการจังหวัด และเป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรม |
ชีวิตบั้นปลายและการมรณภาพ ท่านเจ้าคุณฯพระวชิรสารโสภณ จุล อิสฺสรญาโณ เป็นพระที่พัฒนาและสร้างสรรค์ความเจริญให้กับวัดหงษ์ทองเป็นอย่างมาก เมื่อท่านมีอายุมาก สังขารร่วงโรย หลวงพ่อได้ป่วยเป็นเบาหวานและโรคปอด ญาติและศิษย์ได้ช่วยกันนำท่านไปทำการรักษา ที่โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ อาการป่วยของท่านเจ้าคุณฯไม่บรรเทา ในที่สุดก็ได้ถึงกาลมรณภาพเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2512 ตรงกับวันอาทิตย์สิริอายุ คำนวณ ได้ 74 ปี 51 พรรษา |
ที่มา สารานุกรมเหรียญยอดนิยม 76 จังหวัด โดย เพชร ท่าพระจันทร์ |