เมนู
หมวดหมู่

ท่านครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี)วัดพระพุทธบาทผาหนาม

01 เม.ย. 2023

ลองใช้จินตนาการ ย้อนกาลเวลาไปประมาณ 90 กว่าปี จาก พ.ศ. 2525 สู่ปีพุทธศักราช 2431 ณ หมู่บ้านแม่เทย อ.ลี้ จ.ลำพูน ในสมัยนั้น ความเจริญยังย่างกรายมาไม่ถึง ทุรกันดารไปเสียทุกอย่าง เพราะยังเป็นบ้านป่าหย่อมเล็ก ๆ เพียง 9 หลังคาเรือนตั้งอยู่โดยมีความทะมึนของขุนเขาลำเนาไพรเป็นรั้วรอบ

จากคำบอกเล่า แม่เทยสมัยนั้น ตกยามค่ำคืน เสียงส่ำสัตว์น้อยใหญ่ร้องระงมรอบบ้าน ไม่ว่าเสือ, ช้าง, เก้ง, กวาง คละเคล้ากันไปได้ยินถนัด ท้ายหมู่บ้านเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ของผัวหนุ่มเมียสาวคู่หนึ่งอาศัยอยู่ แม้จะยากจนแต่ก็มีความสุขตามประสาคนหนุ่มสาวที่มักมองโลกเป็นความน่าบันเทิงเริงรมย์ ยิ่งอยู่ในระยะข้าวใหม่ปลามันความฝันนั้นมักบรรเจิดยิ่งนัก

ฝ่ายผัวมีเชื้อสายชาวลัวะ ชื่อ เม่า และเมียชื่อ จันตา เขาทั้งสองดำรงชีพ แบบชาวบ้านป่าทั้งหลาย ด้วยการทำไร่ปลูกผักหักฟืนไปวัน ๆ โดยหาจุดหมายเพื่อความเป็นปึกแผ่นไม่ค่อยมั่นใจนักเพราะความยากจน สมัยนั้นไม่มีการทำนาเพราะยังไม่มีการบุกเบิก แต่จะพากันปลูกข้าวไร่แทน ได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง แต่ที่แน่นอน ไม่พอกินไปตลอดปี ซึ่งถ้าหากข้าวเปลือกที่กักตุนหมด อาหารหลักที่รับช่วงต่อจากข้าวก็คือกลอย

กลอยเป็นพืชใช้กินหัวจัดอยู่ในตระกูลมัน มีหัวอยู่ในดิน ชาวบ้านป่าจะเที่ยวขุดมากักตุนไว้ในฤดูของมัน ซึ่งสมัยนั้นชุกชุม โดยเอาหัวกลอยที่ขุดมาได้นั้นปอกเปลือก ฝานเป็นชิ้นบาง ๆ นำมาตากแดดให้แห้ง เก็บไว้ได้นาน ๆ เวลาจะกินก็ใช้วิธีนึ่งจนสุก แล้วแปรเป็นอาหารทั้งรูปข้าวและของหวาน โดยจะเอาคลุกน้ำอ้อยน้ำตาล โดยขูดมะพร้าวผสมก็กินอร่อย หรือจะกินกับอาหารประเภทกับข้าว เช่น ผัก เนื้อ ก็ได้ดีเหมือนข้าว

หลายท่านในภาคเหนือเราในปัจจุบันที่มีอายุ 40 – 50 ปี เคยกินกลอย และหลายท่านอีกเช่นกันที่เติบใหญ่มาด้วยการกินกลอยเป็นอาหารหลัก แม้กระนั้น เจ้ากลอยนี้แม้จะเป็นอาหาร แต่จะกินสุ่มสี่สุ่มห้า โดยไม่ใช้ฤดูกาล ไม่ได้เป็นอันขาด ขืนกินเข้าไปเป็นเมาเบื่อทันที จากผู้ชำนาญในด้านนี้ ท่านบอกว่าฤดูที่กินได้เริ่มตั้งแต่เดือน 11 เหนือ (เดือน 8 ใต้) ไปจนถึงเดือน 6 (เดือน 3 ใต้ ) ต่อจากนั้นกลอยก็จะเฉา ขืนกินนอกจากฤดูดังกล่าวก็จะเกิดอาการเบื่อเมา ซึ่งก็รุนแรงพอดู และหากเกิดอาการดังกล่าวนี้ ท่านว่าให้กินน้ำผึ้งน้ำอ้อยหรือน้ำตาลให้มาก ๆ จะทำให้เกิดอาเจียนและหายเบื่อเมาได้ แต่ถ้าท่านไม่อยากเสี่ยง หากจะกินกลอยโดยไม่เกิดอาการเบื่อเมาแน่นอน ท่านก็ว่า หากนึ่งสุกแล้ว ทดลองให้สุนัขกินก่อน หากสุนัขกิน หรือไม่กิน ก็เป็นกลอยที่ท่านจะกิน หรือกินไม่ได้ เช่นกัน

 

กลอยในฤดูปกติจะไม่มีพิษ และไม่แสลงโรค แต่ถ้าเริ่มกินในระยะ 3 – 4 วันแรก จะมีอาการอ่อนเพลียบ้าง แต่หลังจากนั้นร่างกายก็จะปรับตัวแข็งแรงขึ้นเหมือนกินข้าว แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ คนกินกลอยโดยทั่วไปมักใจคอหงุดหงิด โกรธง่าย ใครพูดผิดหูไม่ค่อยได้ และมักไม่กลัวใคร เห็นจะเป็นเพราะอานุภาพของกลอย ซึ่งจัดอยู่ในจำพวกว่านชนิดหนึ่ง ด้วยกลอยกินเปลืองกว่าข้าวโดยเทียบอัตรา ข้าวนึ่งหนึ่งไห ครอบครัวหนึ่งกินอิ่ม แต่ถ้ากินกลอยจะต้องนึ่งถึงสองไหจึงจะอิ่มพอ และลักษณะคนกินกลอยที่เหมือนกันเมื่อกินนาน ๆ คือท้องใหญ่แต่ไม่อ้วน

วันกำเนิด

ในวันจันทร์* เดือน 7 เหนือ ปีกัดเป้า (ปีฉลู) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 เดือนเมษายน 2431 อันเป็นวันมหาสงกรานต์ คำเมืองเรียกว่าวันปากปี ครอบครัวของ นายเม่า นางจันตา ก็มีโอกาสต้อนรับชีวิตเล็ก ๆ ชีวิตหนึ่งซึ่งลือตาขึ้นมาดูโลกในวันนี้ นับเป็นสายเลือดและพยานรักคนแรกและคนเดียวของพ่อเม่าแม่จันตา เพื่อให้เป็นมงคลตามวัน ทั้งสองจึงตั้งชื่อทารกน้อยนั้นว่า “จำปี” (*วันที่ 17 เมษายน 2431 เป็นวันอังคาร)

ชีวิตวัยเยาว์

ดังกล่าวแล้วว่า ครอบครัวท่านเป็นครอบครัวชาวบ้านป่า ค่อนข้างยากจน อาหารการกินจึงขาดแคลน มีแต่ผักกับกลอยเป็นอาหารหลัก เด็กชายจำปี จึงมีร่างกายบอบบาง พุงค่อนข้างป่องเพราะโรคขาดอาหาร จึงมักเจ็บออดแอด แต่ก็ไม่ร้ายแรงนัก “จำปี” มีแววฉลาดแต่ยามเล็ก ๆ ว่านอนสอนง่าย และเรียนรู้ประสบการณ์จากป่า ความสงบของธรรมชาติมาตลอดชีวิต แม้จะยากจนแสนเข็ญ ครอบครัวนี้ก็ยังคงมีความสงบสุข ยิ่งมีลูกน้อยเป็นสื่อสายใจ พ่อเม่า แม่จันตา ก็ยิ่งมุมานะทำงานขึ้นอีกเท่าตัว เพื่อสร้างอนาคตให้เด็กน้อยจำปี เด็กชายจำปีคงไม่เข้าใจการต่อสู้ของพ่อแม่นัก คงยังมีความร่าเริงสนุกไปตามประสาเด็ก ๆ และความน่ารักอันไร้เดียงสาของเขามันหมายถึงความรักของพ่อแม่ที่ทุ่มเทให้ลูกน้อยจนสุดหัวใจ แม้ทั้งสองร่างกายจะเปื้อนเหงื่อกว่าชีวิตประจำวันจะสิ้นสุด ก็ต่อเมื่อใกล้ค่ำย่ำสนธยา แต่ใบหน้าไม่เคยว่างรอยยิ้มอย่างเป็นสุข เมื่อเห็นลูกน้อยโผผวาเข้าหาอ้อมกอด นี้คือความรักของพ่อแม่ทุกคนในโลกที่มีต่อลูกน้อย

การพลัดพรากที่ยิ่งใหญ่

พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่าโลกนี้เป็นอนิจจัง มีความไม่เที่ยงแท้เป็นเครื่องกัดกร่อน ชีวิตมนุษย์ที่อุบัติขึ้นมาหาจุดหมายที่แท้จริงไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว สุขกับโศกมักจะเป็นเครื่องล้อเล่นให้ได้พบเสมอ พบกันเพื่อจะจากกันในที่สุด เป็นอยู่เช่นนี้เหมือนกันทั้งโลก

ครอบครัวของหนุ่มเม่าก็เช่นกัน จากความกรากกรำในงานไร่ และต่อสู้เพื่อเลี้ยงทุกชีวิตที่ตนรับผิดชอบทำให้เขาล้มเจ็บลง มันเป็นไข้ป่าที่ร้ายแรง ซึ่งหลายคนเสี่ยงเอา หากว่าเป็นแล้วก็พึ่งยากลางบ้านต้มกินกันตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ หมอกลางบ้านจะแนะนำให้ อยู่หรือตายนั่นแล้วแต่บุญกรรม สำหรับหยูกยาทันสมัยไม่ต้องพูดถึง เพราะไกลความเจริญเหลือเกิน พูดง่าย ๆ ว่าจากลี้ไปเชียงใหม่ในสมัยนั้นต้องเดินกันเป็นสิบ ๆ วัน

สำหรับพ่อเม่าค่อนข้างโชคร้าย ยากลางบ้านประเภทสมุนไพรสกัดโรคร้ายไม่อยู่ อาการมีแต่ทรงกับทรุด แม่จันตาต้องนั่งเฝ้ามิยอมห่าง ด้วยความเป็นห่วงกังวล โดยมีลูกน้อยนั่งอยู่ด้วยนัยน์ตาปริบ ๆ ด้วยคำถามที่ว่า

“พ่อเป็นอะไรทำไมจึงไม่ลุกนั่งหอบอุ้มลูกเหมือนเก่าก่อน”

แม่ก็ได้แต่บอกว่าพ่อไม่สบาย พร้อมกับน้ำตาอาบแก้มกับคำถามสุดท้ายอันไร้เดียงสาของลูก พร้อมกับตั้งความหวังว่าพ่อคงไม่เป็นอะไรมากนัก

แต่อนิจจา ความตายนั้นไม่คำนึงเวลา และความรู้สึกของมนุษย์เลย แล้ววันนั้นวันที่พ่อเม่าต้องจากทุกคนไปอย่างไม่มีวันกลับมาถึง ท่ามกลางความเศร้าโศกของแม่จันตา และความอาลัยรักของเพื่อนบ้าน พ่อเม่าทิ้งซากที่ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกอยู่บนที่นอนเก่า ๆ ให้แม่จันตาได้ร่ำไห้กอดรัดปิ่มว่าจะขาดใจตามไปด้วย เด็กชายจำปียังไร้เดียงสาเกินไปนักที่จะเข้าใจว่าความตายคืออะไร ด้วยวัยเพียง 4 ขวบ ก็ได้แต่พร่ำถามว่าแม่ร้องไห้ทำไม? พ่อเกลียดแม่หรือ? ทำไมพ่อจึงไม่พูด? ทุกคนที่เฝ้าดู อยู่จึงได้แต่เบือนหน้าหนีด้วยความสงสารสะเทือนใจ ความพลัดพรากจากของรักคนรัก นับว่าเป็นความเจ็บปวดรวดร้าวใจอย่างนี้เอง

แสงทอง – แสงธรรม

นับจากพ่อเม่าจากไปแล้ว ก็เหลือแต่สองแม่ลูกกัดฟันต่อสู้ ชีวิตท่ามกลางบ้านน้อยในห้อมแหนของดงดิบจึงขาดความอบอุ่นอย่างสิ้นเชิง เมื่อความทะมึนของราตรีมาถึง หลายครั้งที่สองแม่ลูกผวาเข้ากอดกันด้วยใจระทึก เมื่อเสียงนกกลางคืนที่กรีดร้อง เหมือนเสียงสาปแช่งของภูตผี นี่หากพ่อเม่ายังอยู่ พ่อก็คงเป็นที่พึ่งปลอบขวัญเหมือนมีกำแพงเพชรคอยกางกั้น เมื่อขาดพ่อ โลกนี้เหมือนโลกร้าง มีแต่เพียง “จำปี” กับแม่เพียงสองคน

และมาถึงขณะนี้ “จำปี” เริ่มเติบใหญ่ แม้ร่างจะเล็ก แต่เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมก็หล่อหลอมหัวใจเด็กชายจำปีให้แกร่งดังเพชร และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค เป็นนักสู้ชีวิตที่เข้มแข็งในกาลต่อมา

เด็กชายจำปีกับแม่ช่วยกันต่อสู้ในการดำรงชีพอย่างทรหด จวบจนอายุ 16 ปี (พ.ศ. 2447) แม้จะเป็นวัยรุ่น แต่ความคับแค้นที่ผจญอยู่แทบทุกวันทำให้ “จำปี” ไม่ร่าเริงเหมือนเด็กทั่วไป กลับเป็นอันสงบเสงี่ยมเจียมตัว ชอบอยู่คนเดียวเงียบ ๆ และความคิดเป็นผู้ใหญ่เกินตัว

ฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาศรีวิชัย

สมัยนั้นท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังอยู่ที่วัดบ้านปาง วันหนึ่ง แม่เรียกเจ้าจำปีเข้ามาถาม

“ลูกอยากบวชไหม”

จำปีตอบว่า “อยากบวช แต่ยังห่วงแม่ เมื่อลูกบวชแล้วใครดูแล”

แม่ตาตอบว่า “อยู่ได้ อย่าห่วงเลย อีกประการหนึ่งการบวชนี้เป็นการช่วยพ่อแม่ที่ดีที่สุด เพราะเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่อย่างแท้จริง เมื่อเห็นลูกนุ่งเหลือง ก็นับว่าเป็นความสุขชื่นใจอย่างเหลือเกิน”

และจากคำแนะนำนี้ เด็กชายจำปีจึงถูกแม่พาไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย และในทันทีที่นำไปฝาก เพียงท่านครูบาเห็นลักษณะเด็กชายจำปีท่านก็รับไว้ทันที เหมือนดั่งจะมีตาทิพย์มองเห็นว่าเด็กคนนี้ในอนาคตจะต้องยิ่งใหญ่ ในฐานะนักบุญแทนท่าน และอีกไม่นานหลังจากร่ำเรียนสวดมนต์ อ่านเขียนอักขระทั้งภาษาไทยและพื้นเมืองจบแล้วท่านครูบาศรีวิชัย จึงให้บรรพชาเป็นสามเณร

สามเณร “ศรีวิชัย”

ระหว่างเป็นสามเณร ท่านได้ปฏิบัติกิจอันจะพึงมีต่ออาจารย์ คือครูบาศรีวิชัยอย่างครบถ้วน ท่านจึงเป็นที่รักของอาจารย์อย่างยิ่ง ท่านจึงตั้งชื่อให้เหมือนกับอาจารย์ สามเณรศรีวิชัย สามเณรน้อยได้เฝ้าอุปัฏฐากอาจารย์ และร่ำเรียนกัมมัฏฐานฐานและอักษรสมัยจนจบถ้วนด้วยความสนใจ พร้อมกับปฏิบัติตามที่พร่ำสอนจนดวงจิตสงบ พร้อมกันนั้น การถ่ายทอดในเชิงวิชาช่างก่อสร้างจากอาจารย์ จนเกิดความชำนาญและติดตามอาจารย์ครูบาศรีวิชัยไปก่อสร้างวัดวาอารามทุกหนทุกแห่งมิได้ขาด ดังนั้นทางด้านสถาปัตย์ ท่านจึงนับว่าเป็นหนึ่ง ท่านชำนาญจนถึงขนาดว่า เพียงเดินผ่านเสาไม้ต้นไหน ก็สามารถรู้ได้ทันทีว่า เสาต้นไหนกลวงหรือตัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏว่าเสาต้นนั้นจะมีรอยกลวงให้ปรากฏแก่สายตา

ครูบาเจ้าศรีวิชัยอุปสมบทให้

ท่านดำเนินชีวิตทั้งในด้านการปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน และด้านพัฒนาก่อสร้างควบคู่กันไป จวบจนอายุได้ 22 ปี (พ.ศ. 2453) เป็นสามเณรได้ 6 ปี ท่านครูบาศรีวิชัยจึงอุปสมบทให้ แต่เพราะเหตุที่ท่านมีชื่อเหมือนกับอาจารย์ เมื่อเป็นภิกษุ อาจารย์จึงได้เปลี่ยนฉายาให้ใหม่ว่า “อภิชัยภิกขุ” (หมายเหตุ: ในต้นฉบับเดิมท่านผู้เรียบเรียงได้เขียนถึงฉายาใหม่ของท่านว่า “อภิชัยขาวปี” ซึ่งน่าจะคลาดเคลื่อน เพราะคำว่า “ขาวปี” น่าจะเป็นฉายาของท่านเมื่อตอนนุ่งขาวห่มขาว ไม่ใช่ฉายาตอนเป็นพระภิกษุ  – webmaster)

ท่านอุปสมบทได้เพียง 2 พรรษา ท่านจึงกราบลาพระอาจารย์ เพื่อที่จะแยกไปมุ่งงานก่อสร้างต่อไป ซึ่งงานก่อสร้างโดยตัวของท่านนั้นจะได้เรียบเรียงตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงงาน ชิ้นสุดท้ายอีกต่างหากในท้ายเล่ม (คลิกที่นี่เพื่อไปดู)

ผจญมาร

พระอภิชัย เริ่มงานก่อสร้างในสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 24 (พ.ศ. 2455) จนถึงอายุ 35 (พ.ศ. 2466) ลางร้ายก็เริ่มอุบัติ สมัยนั้นใช้เงินตราปราสาททอง ตรารูปช้างสามหัว และเริ่มมีธนบัตรใช้ควบคู่กันไป ขณะที่กำลังก่อสร้างกุฏิวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน แต่ยังไม่ทันเสร็จ ปลัดอำเภอลี้สมัยนั้นก็มาสอบถามถึงใบกองเกินการเกณฑ์ทหารจากท่าน แต่ท่านไม่มี ตำรวจจึงคุมตัวไปจังหวัดลำพูนและส่งตัวฟ้องศาล เมื่อถูกศาลไต่สวนถึงใบกองเกิน ว่าทำไมถึงไม่ได้รับ ท่านก็ให้การว่า ขณะที่เริ่มมีการเกณฑ์ทหารนั้น ได้ระบุว่าให้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ แต่ขณะนั้น อายุอาตมาได้ 25 ปี บัดนี้อายุของอาตมาได้ 35 ปีแล้ว จึงนับว่าพ้นการเกณฑ์แล้ว ศาลจึงพักเรื่องนี้ไว้ก่อน

(หมายเหตุ : พ.ศ. 2448 มีประกาศใช้ “พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124” พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ แต่ค่อย ๆ ขยายไปเรื่อย ๆ จนถึง พ.ศ. 2459 จึงประกาศบังคับใช้ครบทั่วราชอาณาจักร เข้าใจว่า ในปีที่พรบ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ที่จังหวัดลำพูนนั้น เป็นปีที่ท่านมีอายุ 25 ปี คือในพ.ศ. 2456)

ถูกบังคับให้สึกและครองผ้าขาวครั้งที่สอง

หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านก็ต้องขึ้นศาลอีก และให้ท่านรับใบกองเกิน แต่ท่านก็ไม่ได้ไปแจ้งแก่ทางการให้มีการยกเว้นหรืออย่างไร ฉะนั้นท่านจึงมีความผิดให้จำคุก 6 เดือน แล้วให้จัดการสึกท่านออกจากการเป็นพระภิกษุก่อน แต่ท่านก็ยังยืนยันว่าท่านบริสุทธิ์ ท่านเป็นพระทั้งกายและใจ ชีวิตนี้อุทิศให้กับศาสนาแล้ว ท่านไม่ยอมเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกายของท่านด้วยมือของตัวเองเป็นอันขาด

เมื่อยืนยันอย่างนี้ ศาลจึงให้ตำรวจคุมตัวท่านไปหาเจ้าคณะจังหวัด ให้จัดการสึกตามระเบียบ แม้กระนั้น ท่านก็ยังยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะไม่ยอมสึก และเมื่ออภิชัยภิกษุไม่ยอมสึก เจ้าคณะจังหวัดจึงต้องบังคับ โดยให้ตำรวจจับเปลื้องผ้าเหลืองออกจากตัวท่าน จากนั้นก็ตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจล้นเหลือในสมัยนั้น ก็สวมกุญแจมือท่าน แล้วคุมตัวไปโรงพักเสียคืนหนึ่ง

วันรุ่งขึ้นเวลาบ่าย 4 โมงเย็น ก็ถูกส่งเข้าจองจำในเรือนจำของจังหวัดลำพูนในสมัยนั้นต่อไป ซึ่งในนั้นท่านต้องได้รับทุกข์เวทนาแสนสาหัส

ท่านเล่าถึงชีวิตในคุกตอนนั้นว่า คุกในสมัยนั้นสุดแสนสกปรก ยังเป็นคุกไม้ พื้นปูกระดาน เวลานอนก็นอนทั้ง ๆ ที่ล่ามโซ่ โดยสอดร้อยกับนักโทษคนอื่น คือข้อเท้าทั้งสอง ล่ามโซ่ตรวน มีโซ่เส้นใหญ่ สอดร้อยลอดตะขอพ่วงกับนักโทษคนอื่นอีกที

เรื่องจะนอนหลับสบายนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะพอล้มตัวนอน ฝูงเรือดนับเป็นร้อย ๆ ตัวอ้วนปี๋เป็นต้องรุมกัดดูดเลือดกิน ให้ยุบยิบไปหมด จะถ่ายหนักถ่ายเบา ก็ว่ากันตรงช่องกระดานตรงที่ใครที่มัน เรื่องกลิ่นเหม็นไม่ต้องห่วง คลุ้งไปหมด ตลบอบอวลทั้งเรือนจำทีเดียว

ชีวิตประจำวันในห้องขังก็คือ พอ 7 โมงเช้า เปิดประตูห้องขัง ทำงานไม่ทันไร ถึงเวลา 8 นาฬิกา ผู้คุมเป่านกหวีดเลิกงาน ทานข้าว ซึ่งข้าวนี่ก็อย่าหวังว่าจะกินให้อิ่มหมีพีมัน และเอร็ดอร่อย ไม่มีทาง ข้าวกระติกเล็ก ๆ แกงถ้วยหนึ่ง ต้องกินถึง 4 คน พอหรือไม่พอกิน ก็มีให้เท่านั้น ซึ่งแน่ละเวลากินก็ใช้ความว่องไว ขืนมัวทำสำอาง ค่อยเปิบค่อยกิน เป็นต้องอด คนอื่นที่เขาไว กินเรียบหมด และกับข้าวแต่ละวันนั้นเลือกไม่ได้ จะมีจำพวกผักเสียแหละเป็นส่วนมาก เช่น ยอดฟักทอง ผักตำลึงเป็นต้น แกงใส่ปลาร้า ค้างปี เหม็นหืน หาความอร่อยไม่มีเลย ถ้าเทให้หมูกินยังสงสัยอยู่ว่ามันจะกินหรือไม่ ข้าวนึ่งที่ใช้รับประทานก็เป็นข้าวเก่า แข็งเหมือนกินก้อนกรวด เป็นข้าวแดงใช้แรงนักโทษนั่นเองช่วยกันตำ จึงดีอยู่หน่อยที่มีวิตามิน กินแล้วแรงดี

สร้างโรงพยาบาล

ท่านอภิชัยขาวปีทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุกไม่นาน ก็ได้ไปเห็นโรงพยาบาลจังหวัดลำพูนในสมัยนั้นชำรุดทรุดโทรมเหลือเกิน ท่านจึงแจ้งให้กับผู้บัญชาการเรือนจำ ๆ ก็ไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ๆ ก็กลัวว่าจะสร้างไม่ทันเสร็จ เพราะท่านอภิชัยขาวปีติดคุกอยู่แค่ 6 เดือนเท่านั้น จึงไม่อนุญาต

ท่านจึงถามว่า “ถ้าสร้างเหมาโรงพยาบาลนี้จะใช้งบประมาณเท่าไร อนึ่งถ้าสร้างภายใน 6 เดือนไม่เสร็จ เมื่อถึงคราวฉลองเมื่อไรก็จะร่วม”

ทางจังหวัดก็บอกว่าถ้ามีเงินถึง 1,600 บาทก็สร้างได้ (ในสมัยนั้นมีค่ามาก) ท่านจึงออกเงินส่วนตัวมอบให้ทางจังหวัดเพื่อเป็นทุนสร้างโรงพยาบาลต่อไป เป็นจำนวนเงิน1,600 บาท ซึ่งหลังจากได้รับทุนแล้วก็ดำเนินการก่อสร้างทันที

และผลแห่งความดีนั้น ทางจังหวัดก็ส่งให้ทางเรือนจำ ส่งท่านให้ไปพำนักอยู่ในโรงพยาบาลหลังเก่า เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานสร้างโรงพยาบาล พร้อมกันนั้นก็ให้นักโทษชาย 2 คน มาอยู่ด้วยเพื่อปรนนิบัติ ทั้งอาหารการกินก็ถูกกำชับให้ทำอย่างดีและสะอาดเป็นพิเศษกว่านักโทษทั้งหลาย ท่านก็เลยพ้นจากการทรมานเพราะถูกเรือดยุงกัด

นับจากนั้นมา การก่อสร้างก็รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากบรรดาประชาชนทั้งหลายที่เลื่อมใสในตัวท่าน เมื่อทราบข่าวว่าท่านมาเป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาล ก็พากันมาช่วยและทำบุญด้วยอย่างคับคั่งและเงินที่ได้จากการบริจาคครั้งนั้น ยังได้ถึง 2,000 กว่าบาท เกินกว่าที่กำหนดไว้ถึงสี่ร้อยบาท

วันพ้นโทษ

ครั้นถึงเดือน 9 เหนือ แรม 2 ค่ำ ก็เป็นวันที่ท่านพ้นโทษตามคำพิพากษาครบ 6 เดือนและโรงพยาบาลก็แล้วเสร็จก่อนถึง 10 วัน ในวันที่จะออกจากคุกนั้น ท่านก็ได้ให้ทานแก่พวกนักโทษทั้งหลายเป็นขนมส้มหวานทั้งอาหารทั้งหลายอย่างเหลือเฟือ จนพวกเขาอิ่มหมีพีมันไปตามๆ กัน เพราะเมื่อถึงตอนที่ท่านยังถูกจองจำอยู่ในคุกนั้น ระยะหลังพวกนักโทษทั้งหลายก็อยู่กินสบายจากของไทยทานที่ประชาชนผู้เลื่อมใสมาถวายถึงในคุกเป็นประจำทุกวันอย่างมากมาย รวมความว่าผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในเรือนจำทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ได้รับความสบายในด้านอาหารการกินไปตาม ๆ กัน

ดังนั้นเมื่อถึงกำหนดพ้นโทษ วันนั้น นักโทษทั้งหลายต่างพากันปริเวทนา บ่นพร่ำว่า เมื่อท่านอออภิชัยขาวปีพ้นโทษไปแล้ว พวกเราทั้งหลายยังจะได้อยู่กินอิ่มอย่างนี้อีกหรือ แล้วพากันร่ำไห้ ด้วยความอาลัยรักในตัวท่านเสียงระงม เป็นภาพที่สะเทือนใจยิ่งนัก แม้ตัวท่านเองก็แทบกลั้นน้ำไว้ไม่อยู่

พวกเขาพากันมารอที่ประตูคุกเป็นการส่งท่านด้วยใบหน้าที่นองไปด้วยน้ำตา และจากปากประตูคุกจนถึงวัดพระธาตุหริภุญชัยมีประมาณระยะทาง 70 วา ก็มีประชาชนมายืนเรียงรายถวายทานกับท่าน ซึ่งก็ได้เป็นเงินถึง 300 บาท พอดีกับเงินที่ซื้อของถวายทานให้แก่นักโทษ เหมือนกับเป็นการยืนยันว่า การทำบุญสุนทานนั้นไม่หายไปไหน

เมื่อท่านเดินทางไปถึงประตูวัดพระธาตุหริภุญชัย ก็มีพระสงฆ์ 10 รูป มาสวดมนต์เป็นการลดเคราะห์สะเดาะภัยให้ แล้วให้ศีลให้พรให้อยู่ดีมีสุขสืบไป จากนั้นพอถึงเดือน 9เหนือ แรม 4 ค่ำก็ร่วมฉลองโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน

อุปสมบทครั้งที่ 2

ในวันที่แล้วเสร็จงานฉลองสมโภช ท่านก็เดินทางไปนมัสการท่านอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ในครานั้นท่านครูบาศรีวิชัยจึงอุปสมบทท่านเป็นภิกษุอีก โดยมีครูบาแห่งวัดนั้นเป็นอุปัชฌาย์ หลังจากได้กลับมาสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว ท่านอยู่จำพรรษากับครูบาศรีวิชัยได้ 1 พรรษา ก็ลาอาจารย์จาริกสร้างสถานที่ต่าง ๆ ต่อไปอีกหลายแห่งทั้งวัดและโรงเรียน

ถูกบังคับให้สึกและครองผ้าขาวครั้งที่ 1

ที่แม่ระมาดนี่เอง ก็มีเรื่องน่าเศร้าใจเกิดขึ้นอีก กล่าวคือ เมื่อสร้างพระวิหารเพื่อประดิษฐานพระหินอ่อนนั้น เงินไม่พอ ยังขาดอยู่อีก 700 บาท เป็นค่าทองคำเปลว 400 บาท กับค่านายช่างอีก 300 บาท ท่านก็ปรึกษาเรี่ยไรเอาจากชาวบ้านจนครบด้วยความเต็มใจของชาวบ้าน แล้วช่วยกันสร้างต่อ จนแล้วเสร็จทันฉลอง (หมายเหตุ: ตามบทความเดิมของผู้เรียบเรียง ระบุว่าเป็นการสร้างโบสถ์ แต่ตามหัวข้อ “บัญชีรายชื่อสถานที่ที่ท่านได้สร้างระหว่าง อายุ 35-42 ปี” ระบุว่าเป็นการสร้างวิหาร)

เมื่อเรื่องการเรี่ยไรนี้ทราบถึงอำเภอ จึงเรียกกำนันไปสอบสวนว่า อภิชัยภิกษุ เรี่ยไรจริงหรือไม่ กำนันก็รับว่าจริงแต่ด้วยความเต็มใจของชาวบ้าน เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นงานสร้างโบสถ์ก็หยุดชะงัก ทางอำเภอก็ว่าเต็มใจหรือไม่ก็ผิดเพราะเป็นพระเป็นเจ้าจะทำการเรี่ยไรไม่ได้ ผิดระเบียบคณะสงฆ์ แล้วรายงานเรื่องนี้ไปยังเจ้าคณะจังหวัดๆ จึงตัดสินว่าให้สึกพระอภิชัยเสีย ท่านจึงจำยอมสึกจากภาวะความเป็นภิกษุ ท่ามกลางความสลดหดหู่ของผู้คนที่รู้เห็นเป็นอันมาก ที่ท่านครูบาของพวกเขาต้องมารับกรรมเพราะทำความดี อย่างไม่ยุติธรรม

ท่านต้องเปลี่ยนมานุ่งห่มแบบชีปะขาวอยู่ที่ใต้ต้นประดู่แห้งที่ยืนต้นตายซากมานานเป็นแรมปี ซึ่ง ณ  ที่นี้ เองจึงเกิดเรื่องที่น่าอัศจรรย์สมควรจะบันทึกไว้คือ พอท่านเปลี่ยนผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกายมาครองผ้าขาวเท่านั้น ต้นประดู่ที่แห้งโกร๋นปราศจากใบนั้น ก็ผลิตดอกออกใบขึ้นมาอีก ท่ามกลางความอัศจรรย์ใจของบรรดาประชาชนที่ร่วมชุมนุมอยู่เป็นอันมาก ต่างพากันหลั่งน้ำตา ล้มตัวก้มลงกราบโดยพร้อมเพรียงกัน นับเป็นปรากฏการณ์ที่จะไม่เห็นอีกในชีวิต

มารตามรังควาน

ไม่นานจากนั้น ท่านพร้อมกับผู้ติดตาม ก็มุ่งกลับสู่อำเภอลี้ โดยรอนแรมมาเป็นระยะเวลา 10 วัน 10 คืน ก็เดินทางมาถึง อ.ลี้ พักอยู่ที่กลางทุ่งนาบ้านป่าหก ได้ 4 คืน นายอำเภอลี้ จึงให้ตำรวจมาขับไล่ไม่ให้อยู่โดยไม่มีเหตุผล ด้วยความใจดำเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงมาพักอยู่กลางทุ่งนาบ้านแม่ตืน ณ ที่นี้ก็ถูกทางอำเภอกลั่นแกล้งอีก โดยรายงานไปทางจังหวัดว่า ปะขาวปีนำปืนเถื่อนมาจากแม่สอดมาถึง 1,000 กระบอก

หลังจากรับรายงาน จึงมีบัญชาให้นายร้อยตำรวจ 2 คนกับพระครู 2 รูป ขึ้นมาทำการตรวจค้นไต่สวน ท่านว่า “ไม่เป็นความจริงหรอก อาตมาเดินทางผ่านมาตั้ง 2 จังหวัดแล้ว ยังไม่เห็นมีใครกล่าวหาเช่นนี้เลย ถ้าท่านไม่เชื่อก็เชิญค้นดูเองเถิด”

ตำรวจทั้งสองก็ค้นสัมภาระของคณะติดตามดู ก็พบปืนแก๊ป 1 กระบอก แต่ปรากฏว่าเป็นปืนมีทะเบียนของชาวบ้านผู้ติดตามคนหนึ่ง จึงไม่ว่าอะไร จากนั้นก็ไปค้นจนทั่ว ลามปามเข้าค้นถึงในวัดแม่ตืน จนพระเณรแตกตื่นเป็นโกลาหล แต่ก็ไม่พบอะไรอีก จึงพากันเดินทางกลับด้วยความผิดหวัง

ก่อนกลับก็ไปต่อว่าต่อขานทางอำเภอลี้เสียจนหน้าม้าน หาว่าหลอกให้เดินทางมาเสียเวลาเปล่า เหนื่อยแทบตาย (เพราะสมัยนั้นไม่มีรถยนต์แม้แต่คันเดียว) ทางนายอำเภอจึงจำเป็นต้องออกค่าเดินทาง พร้อมเสบียงอาหารให้คณะนายตำรวจ ดังกล่าวเดินทางกลับ

เสร็จจากเรื่องที่กล่าวหานั้นแล้ว ท่านพร้อมกับคณะก็เดินทางจากแม่ตืนเพื่อจะไปหาท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดพระนอนปูคา บ้านแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ ระหว่างทาง พักที่วัดห้วยกานคืนหนึ่ง เมื่อเข้าเขตกิ่งบ้านโฮ่ง ชาวบ้านก็พาตำรวจมาดักจับอีก ด้วยข้อหาอะไรไม่แจ้ง แต่ตำรวจก็จับไม่ไหวเพราะคนตั้งมากมาย ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไรจึงล่าถอยไป ท่านจึงไปพักที่วัดดงฤๅษีคืนหนึ่ง แล้วมุ่งไปทางบ้านหนองล่อง ณ ที่นี้ก็ถูกคณะข้าหลวงดักจับอีก แต่ก็จับไม่ไหวอีกเช่นกัน

ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มาขอพบ

เมื่อถึงวัดท่าลี่ คณะที่พักอยู่ที่ศาลา ในตอนเย็น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จึงเข้าไปสอบถาม

ผู้ว่าฯ “ท่านอยู่บ้านใด เกิดที่ไหน”

ครูบาฯ “เดิมอาตมาอยู่บ้านแม่เทย อ.ลี้ ลำพูนนี่เอง”

ผู้ว่าฯ “อ้อท่านก็เป็นคนเมืองเราเหมือนกัน ก่อนมาถึงที่นี่ท่านไปไหนมา”

ครูบาฯ “อาตมามาจากพม่า”

ผู้ว่าฯ “ไปอยู่นานไหม “

ครูบาฯ “5 ปีแล้ว” (คำตอบของท่านตรงนี้น่าสนใจว่า ท่านไปอยู่ที่พม่าถึง 5 ปี ในช่วงระยะเวลาใด? – Webmaster)

ผู้ว่าฯ “อือม์ ก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรดังเขาเล่าลือ แต่ก็มีอีกอย่าง ขอให้ท่านเสียค่าประถมศึกษา 8 บาท ให้กับทางอำเภอเสีย ตามระเบียบที่ทางการกำหนดไว้ หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร”

ขณะนั้นกำนันกับชาวบ้านที่ร่วมชุมนุมอยู่ ณ ที่นั้นได้ยินจึงช่วยกันบริจาคให้ท่าน ได้เงิน 15 บาท ท่านจึงมอบให้กับนายตำรวจคนหนึ่งที่มากับผู้ว่าฯ ไป แต่ก็นับว่าเป็นคราวเคราะห์ของตำรวจคนนั้น ซึ่งพอรับเงินไปได้สักครู่ก็ไปทำหายเสีย จึงต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่ายแทนไปตามระเบียบ

 

หลังจากที่พักที่ท่าลี่คืนหนึ่งแล้ว ท่านพร้อมคณะก็ขนของข้ามแม่น้ำปิงไปขึ้นรถ ไปจนถึงวัดพระนอนปูคา แล้วอยู่ร่วมฉลองวิหารพระนอนปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับท่านครูบาศรีวิชัย ซึ่งท่านมาวัดพระนอนแม่ปูคา เพื่อบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ และสร้างวิหารพระนอนแม่ปูคา จนแล้วเสร็จ แล้วก็กลับมา หมายจะมาจำพรรษาที่วัดแม่ตืน อ.ลี้อีก แต่นายอำเภอจอมเหี้ยม ก็สั่งกำนันมาไล่ไม่ให้อยู่เป็นอันขาด ท่านจึงสุดแสนที่อัดอั้นตันใจและรู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่งที่ถูกจองล้างจองผลาญอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สร้างวัดพระบาทตะเมาะ

ก็พอดีท่านคิดได้ว่ามีญาติทางพ่อของท่านเป็นกำนันอยู่ที่ตำบลดอยเต่า จึงให้คนไปบอกให้มาพบท่าน เมื่อกำนันมาถึงแล้วท่านก็ถามว่า “อาตมาจะไปอยู่ที่พระบาทตะเมาะได้หรือไม่” กำนันดอยเต่าจึงไปปรึกษากับทางอำเภอ ๆ จึงบอกว่า ดีแล้ว ให้ไปบอกท่านให้มาอยู่เร็วๆ เถิด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ไปอยู่พระบาทตะเมาะ โดยสร้างอารามขึ้นที่นั้น ด้วยความร่วมมือทั้งฝ่ายนายอำเภอและป่าไม้อำเภอ ไปจองที่กว้าง 500 วา ยาว 500 วา และที่พระบาทตะเมาะนี้เอง ท่านได้สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทหนึ่งหลัง มีเจดีย์ตั้งอยู่บนวิหารถึง 9 ยอด นับเป็นศิลปะที่งดงาม ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งท่านจะไปเที่ยวชมได้ นับเป็นวิเวกสถานที่เหมาะกับผู้ใฝ่หาความสงบที่เหมาะมากอีกแห่งหนึ่ง

 

ในเรื่องการสร้างวัดพระบาทตะเมาะนี้ ครูบาชัยยะวงศา แห่งวัดพระบาทห้วยต้มท่านได้เล่าให้ฟังว่า ครูบาอภิชัยขาวปีเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ และจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2467 รวมเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ 33 ปี คำว่า “ตะเมาะ” นั้น เป็นคำพูดที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เต่าหมอบ” เพราะที่วัดมีก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายเต่าหมอบอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพูดคำว่าเต่าหมอบ นานเข้าจึงเพี้ยนเป็น ตะเมาะ

ครูบาชัยยะวงศาได้บูรณะสถานที่สำคัญหลายแห่งภายในวัด เช่น มณฑป ๙ ยอดครอบรอยพระพุทธบาท ฯลฯ และครูบาชัยยะวงศาได้มาช่วยครูบาอภิชัยขาวปีก่อสร้างเป็นเวลา 5 ปี สิ่งก่อสร้างที่เหลือไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมอีกอย่างก็คือ กำแพงซึ่งทำจากหินล้วน ไม่มีการใช้ปูนแต่อย่างใด กำแพงหินดังกล่าวเป็นแนวยาว 2 ชั้น แต่ละชั้นยาวประมาณ 100 เมตร

นอกจากแนวกำแพงหินแล้ว ในปี พ.ศ. 2500 ครูบาชัยยะวงศายังได้สร้างมณฑปไม้ไว้ด้วย มณฑปนี้เป็นรูปทรงล้านนา และทำจากไม้ทั้งหลัง ซึ่งปัจจุบันจะหาช่างทำได้ยาก เพราะมณฑปทั้งหลัง ใช้การเข้าลิ่มสลักด้วยไม้ทั้งสิ้น จะใช้นอตเหล็กยึดเพียงไม่กี่ตัว ครูบาชัยยะวงศาเล่าให้ฟังว่า มณฑปนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ล้ำค่าสำหรับท่าน เพราะต้องผจญกับอุปสรรคต่าง ๆ นานับปการ เนื่องจากเขตวัดพระพุทธบาทตะเมาะขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนั้นทางการจังหวัดเชียงใหม่เข้มงวดเรื่องป่าไม้มาก แม้จะนำมาสร้างเป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาก็ยังเป็นการลำบาก

ในระหว่างที่ครูบาชัยยะวงศามาทำการก่อสร้างที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะอยู่นั้น ท่านต้องพักผ่อนจำวัดอยู่ที่ห้วยน้ำอุ่น (ปัจจุบันเป็นวัดห้วยน้ำอุ่น มีครูบาบุญยังเป็นเจ้าอาวาส) ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ห่างจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะ 5 กิโลเมตร……..

……..เหตุที่ครูบาชัยยะวงศาไม่สามารถจำวัดและให้คณะศรัทธาพักที่ วัดพระพุทธบาทตะเมาะได้ เนื่องจากขณะนั้นครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของจังหวัดเชียงใหม่มีความเข้มงวด ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้น ศิษย์ของครูบาอภิชัยขาวปีเกิดมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่และคณะสงฆ์ของบ้านเมือง จนกระทั่งพระปันถูกจับสึกให้นุ่งห่มขาว (ครูบาขาวคำปัน) เป็นเหตุให้ครูบาอภิชัยขาวปี ต้องย้ายจากวัดพระพุทธบาทตะเมาะไปอยู่วัดพระธาตุห้าดวง และ วัดพระพุทธบาทผาหนาม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และเมื่อสร้างมณฑปเสร็จแล้ว ก็ทำการฉลองกันอย่างรีบเร่ง เมื่อฉลองเสร็จครูบาชัยยะวงศาก็ติดตามครูบาอภิชัยขาวปีไปพำนักยังสถานที่ อื่นเพื่อสร้างบารมีต่อไป

(คัดลอกจาก หนังสือประวัติครูบาชัยยะวงศา ถ่ายทอดโดย สิริวฑฺฒโนภิกขุ )

พ.ศ. 2470 ครูบาอภิชัยขาวปี ได้บูรณะพระธาตุเมืองเก่าห้วยลึก บ้านท่าสองยาง จังหวัดตาก ขึ้นใหม่ ต่อจากที่ นายพะสุแฮ ที่เป็นศรัทธาชาวกระเหรี่ยงได้บูรณะไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ.2412 โดยในการบูรณะในปี

2470 นี้ ท่านครูบาได้เปลี่ยนรูปทรงทำเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม และในปีเดียวกัน ท่านก็ได้มาเป็นประธานในการบูรณะพระวิหารวัดพระนอนม่อนช้าง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และธรณีพระธาตุโดยรอบแต่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะและสร้างต่อจนเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2473

ช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

แต่ด้วยวิญญาณของนักพัฒนา ท่านก็อยู่จำพรรษาที่พระบาทตะเมาะไม่นาน ขณะนั้นครูบาศรีวิชัยกำลังสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ เชียงใหม่อยู่ ซึ่งครูบาศรีวิชัย ได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 ท่านจึงพากะเหรี่ยง 500 คน ขึ้นไปช่วยทำถนนขึ้นดอยสุเทพร่วมกับอาจารย์จนแล้วเสร็จ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2478 จึงกลับลงมาพักกับอาจารย์ที่วัดพระสิงห์

อุปสมบทครั้งที่ 3

ที่วัดพระสิงห์นี้ ท่านครูบาศรีวิชัยก็อุปสมบทให้ท่านเป็นภิกษุอีกเป็นครั้งที่ 3 แต่กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าท่านไม่มีบุญพอที่จะอยู่ในผ้าเหลืองได้นาน ๆ พอท่านครูบาศรีวิชัยก็เกิดคดีต่าง ๆ นานา ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 คงทิ้งให้ท่านอยู่รักษาวัดพระสิงห์แต่เพียงผู้เดียว

ครองผ้าขาวครั้งที่ 3

ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงในตัวอาจารย์ของท่านยิ่งนัก แล้วก็มีมารมาผจญอีกจนได้เมื่อ มหาสุดใจ วัดเกตุการามกับท่านพระครูวัดพันอ้นรูปหนึ่งมาหลอกให้ท่านสึกเสีย เพราะมิฉะนั้น ท่านจะเอาครูบาศรีวิชัยจำคุก ท่านจึงสึกเป็นชีปะขาวอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งสุดท้าย แล้วออกจากวัดพระสิงห์กลับไปพักที่วัดบ้านปางด้วยความเหงาใจ แต่ท่านก็ไม่ละทิ้งงานก่อสร้าง จึงได้สร้างกุฏิที่วัดบ้านปางอีก 1 หลัง แล้วกลับไปอยู่ที่พระบาทตะเมาะตามเดิม

สูญเสียอาจารย์

ชีวิตท่านช่วงนี้ คงมุ่งอยู่กับงานก่อสร้างไม่หยุดหย่อน จากที่นี่ย้ายไปที่นั่นไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งครูบาศรีวิชัยพ้นจากมลทินที่ถูกกล่าวหา ท่ามกลางความดีใจของสาธุชนทั้งหลาย แต่ความดีใจนั้นคงมีอยู่ได้ไม่นานท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้อาพาธหนัก แล้วถึงแก่มรณภาพลงในที่สุด ในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ยังความโศกาอาดูรให้เกิดแก่มหาชนผู้เลื่อมใสโดยทั่วไป

ลานนาไทยได้สูญเสียนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ หากจะเอาเสียงร่ำไห้มารวมกันแล้วไซร้เสียงแห่งความวิปโยคนี้คงได้ยินไปถึงสวรรค์ ท่านเองในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ที่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอนตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ก็มีความเศร้าโศกเสียใจมิใช่น้อย แต่ก็ปลงได้ด้วยธรรมสังเวชโดยอารมณ์กัมมัฏฐาน แล้วทำทุกอย่างในฐานะศิษย์จะพึงมีต่ออาจารย์ด้วยกตเวทิตาธรรม ท่านจึงสร้างเมรุหลังหนึ่งกับปราสาทหลังหนึ่งพร้อมหีบบรรจุศพ เพื่อเก็บไว้รอการฌาปนกิจต่อไปที่วัดบ้านปาง ซึ่งได้มีการฌาปนกิจศพท่านครูบาศรีวิชัยอีก 8 ปีต่อมาหลังจากมรณภาพ ณ เมรุที่ได้สร้างขึ้นที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489

หลังจากงานถวายเพลิงปลงศพท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยเสร็จแล้วในปี 2489 นั้น ท่านได้เชิญอัฐิธาตุของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยส่วนที่เป็นกะโหลกเท่าหัวแม่มือส่วนหนึ่งมาด้วย และครูบาดวงดี สุภัทฺโท ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 32 ปีและได้ติดตามท่านมาตั้งแต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพไป นำมาเก็บรักษาสักการบูชาจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นท่านก็มาสร้างอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยทั้งที่วัดสวนดอกและวัดหมื่นสาร โดยครูบาดวงดี สุภัทฺโทได้อยู่ช่วยท่านจนเสร็จงานดังกล่าว

สร้างวัดผาหนาม ที่พำนักในปัจฉิมวัย

วัดคืนยังคงหมุนไป พร้อมกับความเป็นนักก่อสร้างนักพัฒนาของท่านก็ยิ่งลือกระฉ่อนยิ่งขึ้น เมื่อขาดท่านครูบาศรีวิชัย ผู้คนก็หลั่งไหลกันมาหาท่านอย่างมืดฟ้ามัวดิน ในฐานะทายาททางธรรมของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ระยะต่อมา เมื่อได้รับพลังอย่างท่วมท้นขึ้น ผลงานจึงยิ่งใหญ่เป็นลำดับ และกว้างขวางหากำหนดมิได้โดยไม่เคยว่างเว้น จนถึงพุทธศักราช 2507 (หมายเหตุ: ตามบทความเดิมเป็นปี 2470 – Webmaster) อายุสังขารของท่านเริ่มชราลงแล้ว คือมีอายุ 76 ปี แต่ท่านยังคงแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งนี้ อาจจะด้วยอำนาจผลบุญที่ได้บำเพ็ญมาก็ได้ จึงสมควรจะสร้างสถานที่สักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมในปัจฉิมวัย

ก็พอดีชาวบ้านผาหนามซึ่งอพยพจาก อ.ฮอด หนีภัยน้ำท่วมมาอยู่ที่บ้านผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพ่อน้อยฝน ตุ่นวงศ์ เป็นประธาน พร้อมกับชาวบ้านได้มานิมนต์ท่านให้ไปสร้างอารามใกล้เชิงดอยผาหนาม เพื่อเป็นที่พึ่งกายใจและประกอบศาสนกิจ

ท่านก็รับนิมนต์ พร้อมกับชอบใจสถานที่ดังกล่าวและ ตั้งใจว่าจะเป็นสถานที่สุดท้ายเพื่อเป็นที่พำนักและปฏิบัติธรรมของท่าน คณะศรัทธาบ้านผาหนามและศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศ จึงพร้อมใจกันก่อสร้างเป็นอารามขึ้นจากนั้น จนมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมากมายและท่านถือที่แห่งนี้เป็นที่พำนักอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าท่านจะงดมิไปสร้าง หรือพัฒนาที่อื่นอีก แต่ยังคงไปเป็นประธานสร้างสถานที่ต่าง ๆ ควบคู่กับงานสร้างวัดผาหนามอีกตั้งหลาย ๆ แห่ง

วันจากที่ยิ่งใหญ่

แล้วในปี 2514 คณะศรัทธาวัดสันทุ่งฮ่าม แห่งจังหวัดลำปาง ก็ได้มานิมนต์ท่าน เพื่อไปเป็นประธานในการก่อสร้างอีก ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้องด้วยความเมตตาอันมีอยู่อย่างหาขอบเขตไม่ได้ของท่าน แม้ตอนนั้นท่านจะชราภาพมากแล้ว คือมีอายุถึง 83 ปี ก็ตาม ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวของท่านว่า ท่านเหนื่อยอ่อนแค่ไหน แต่ด้วยใจที่แกร่งเหมือนเพชร ท่านคงไม่ปริปากบ่น เป็นประธานให้ที่วัดสันทุ่งฮ่าม

ไม่นานคณะศรัทธาจากวัดท่าต้นธงชัย จ.สุโขทัยก็ได้มานิมนต์ท่านอีก เพื่อเป็นประธานในการสร้างพระวิหาร

วันนั้นเป็นวันที่ 2 มีนาคม 2520 ตอนนั้น ท่านเหนื่อยอ่อนมากแล้ว ท่านได้บอกผู้ใกล้ชิดว่าท่านอยากกลับอารามผาหนาม เหมือนดั่งจะรู้ตัวของท่านว่าไม่มีเวลาในการโปรดที่ไหนอีกต่อไปแล้ว แต่จะมีใครล่วงรู้ถึงข้อนี้ก็หาไม่ คงพาท่านมุ่งสู่สุโขทัยอีกต่อไป และเมื่อถึงวัดท่าต้นธงชัย ได้เพียงวันเดียว ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งตรงกับเดือน 6 เหนือ แรม 14 ค่ำ เวลา 16.00 น. ท่านได้จากไปอย่างสงบ

ข่าวการจากไปของท่านกระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ ทุกคนตกตะลึง ต่างพากันช็อกไปชั่วขณะมันเหมือนสายฟ้าที่ฟาดเปรี้ยงลงบนกลางใจของทุกคน ที่เลื่อมใสเคารพรักในตัวท่าน แล้วจากนั้น เสียงร่ำไห้ก็ระงมไปทุกมุมเมืองพวกเขาได้สูญเสียร่มโพธิ์แก้วอันร่มเย็นไพศาลไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ ตั้งแต่นี้จะหาครูบาเจ้าที่มีความเมตตาอันหาของเขตมิได้และยิ่งใหญ่ปานนี้

แต่แรกมีหลายคนไม่เชื่อและตะโกนว่าเป็นไปไม่ได้ ท่านยังอยู่และจะต้องอยู่ต่อไป ต่อเมื่อได้รับการยืนยันว่าท่านสิ้นแล้ว สิ้นแล้วจริง ๆ ก็ทุ่มตัวลงเกลือกกลิ้งร่ำไห้พิลาปรำพันอย่างน่าเวทนายิ่งนัก โอ้…ท่านผู้เป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ ป่านนี้ท่านคงเป็นสุขอยู่ ณ สรวงสวรรค์ที่สะพรั่งพร้อมด้วยทิพยวิมานอันเพริดแพร้วใหญ่โดสุดพรรณนาด้วยผลบุญแห่งการบำเพ็ญมาอย่างใหญ่หลวงเหลือคณา คงเหลือแต่ผลงานและประวัติชีวิตอันบริสุทธิ์ทิ้งไว้แด่อนุชน ได้ชื่นชม และเสวยผลเป็นอมตะชั่วกาลปาวสาน

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com

แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม : เนื่องจากข้อมูลนั้นมีความคาดเคลื่อนบ้าง หากต้องการเพิ่มเติมข้อมูลสามารถเข้าศึกษาได้ที่  dharma-gateway.com  จะมีอธิบายแทรกเนื้อหา บางช่วงเพื่อให้ครบถ้วน